ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย คนไทยกินข้าวทุกวัน วันละหลายมื้อ แต่เรากลับให้ความสนใจในเรื่องข้าวน้อยมาก
ข้าวที่บริโภคอยู่ทุกวันนี้มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว ทุกครัวเรือนก็นิยมข้าวที่ชัดสีจนขาวสะอาด ข้าวที่ขัดสีจนขาวสะอาด สวยใคร ๆ ก็ต้องบอกว่ามันอร่อย นุ่ม น่ากินกว่าข้าวที่ยังไม่ผ่านการขัดสีเป็นไหน ๆ ยิ่งในปัจจุบันเป็นยุคไฮเทค ทุกอย่างเครื่องจักรล้วนเนรมิตได้ จะสีให้ขาวสะอาด ขนาดไหนได้ทั้งนั้น ขอให้บอก
แต่คนกินจะรู้บ้างไหมว่า ข้าวที่ชัดเจนขาวสวยที่เรากินอยู่ทุกวี่ทุกวันนี้ เป็นข้าวที่ต้องสูญเสียสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ทั้งโปรตีน วิตามิน กากใย และเกลือแร่ต่าง ๆ หลายสิบชนิด ยิ่งขัดสีกันมากเท่าไร ส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวภายในเปลือกที่มีสีน้ำตาลแดง พร้อมทั้งจมูกข้าว ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารก็จะถูกขัดสีออกมากเท่านั้น เหลือแต่เนื้อในของข้าวที่มีแต่แป้งเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้านำข้าวขาวนี้มาล้างหลาย ๆ ครั้งก่อนการหุงต้มด้วยแล้ว ก็แทบจะไม่มีหลงเหลือวิตามินอยู่เลย
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสนใจกับอาหาร การกิน ที่เราต้องกินกันอยู่ประจำทุกวัน เลิกกินข้าวขาวกันเสียที มากิน ข้าวกล้อง กันได้แล้ว
ข้าวกล้องมีอะไรดี
ข้าวกล้อง หรือที่เรียกกันว่า ข้าวซ้อมมือ เป็นข้าวที่สีเอาแต่เปลือกออกเท่านั้น เยื่อหุ้มเมล็ดข้าวที่มีสีน้ำตาลแกมแดง และจมูกข้าว ยังคงอยู่ครบ จึงเป็นข้าวที่อุดมไปด้วย คุณค่าทางอาหาร เกลือแร่ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในข้าวกล้อง ประกอบไปด้วย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง แมงกานีส และอื่น ๆ
เหล็กและทองแดง มีส่วนอย่างมากในการทำให้เกิดโรคโลหิตจาง
แมงกานีส มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ การสร้างฮอร์โมนเพศ และการเจริญเติบโต
ส่วนแคลเซียมและฟอสฟอรัส ถ้าขาดไปแล้ว จะทำให้กระดูกอ่อนและเปราะหักง่าย
ฟอสฟอรัส ยังมีส่วนช่วยป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โปรตีน ที่มีอยู่ในข้าวกล้องนั้นมีอยู่ประมาณ 7-12% แล้วแต่พันธุ์ข้าว แต่หลังจากสีข้าวแล้ว มีผู้ศึกษาค้นคว้าพบว่า การขัดสีข้าวกล้องจนขาว จะทำให้โปรตีนสูญเสียไป ประมาณ 30% วิตามินที่มีอยู่มากในข้าวกล้องก็คือ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบีรวม ข้าวกล้องมีวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวขาวประมาณ 4 เท่า ถ้ากินข้าวกล้องเป็นประจำจะป้องกันโรคเหน็บชา ใครที่เป็นโรคเหน็บชาก็คงไม่สนุกแน่ เพราะจะมีอาหารทั้งอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ปวดแสบ เสียว ชาในขา แขนชาไม่มีแรง และถ้ามีอาการร้ายแรงจะมีอาการบวมตามขา หรือตามตัว เดินไม่ได้และหัวใจล้มเหลวได้
ส่วนวิตามินบี 2 นั้นในข้าวกล้องมีมากกว่าข้าวขาว 66% ถ้าร่างกายขาดวิตามินบี 2 ก็จะเป็นโรค ปากนกกระจอก ได้คือ ที่ริมฝีปากจะบวมมีแผลที่มุมปาก ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาสู้แสงไม่ได้
อาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดน่อง ปวดกล้ามเนื้อ โรคผิวหนังบางชนิด ก็ล้วนเกิดจากการ ขาดวิตามินบีรวม ลิ้นก็สามารถชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในร่างกาย ลิ้นอาจจะเป็นสีชมพูสดใส หรืออาจเป็นสีม่วง หรือออกสีน้ำเงิน หรือด่างเป็นจุดๆ ถ้าลิ้นแตกและมีแผล แสดงให้เห็นว่ากำลังอยู่ในภาวะที่ขาดวิตามินบีรวม
ถ้าหากเรากินข้าวกล้องเป็นประจำทุกวัน เราก็จะรอดพ้นจากภาวะดังกล่าวนี้ได้ นอกจากนั้น การได้รับวิตามินบีรวมจากข้าวกล้องเป็นประจำ ยังช่วยบำรุงสมอง นอกจากนี้ เยื่อใยที่หุ้มเมล็ดข้าวยังเป็นตัวช่วยไม่ให้ท้องผูก และป้องกันมะเร็งในลำไส้อีกด้วย
ผลดีจากการกินข้าวกล้อง
1 ป้องกันโรคเหน็บชา
2 ป้องกันโรคปากนกกระจอก
3 ป้องกันอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ
4 ป้องกันไม่ให้ลิ้นแตกเป็นแผล
5 ป้องกันโรคผิวหนังบางชนิด
6 ป้องกันโรคเกี่ยวกับประสาทบางชนิด
7 ป้องกันอาหารเบื่ออาหาร
8 มีส่วนช่วยป้องกันโลหิตจาง
9 ช่วยไม่ให้ท้องผูก และเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
10 ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
11 ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริว
ฯลฯ
หลายคนอาจจะเคยลองกินข้าวกล้อง แล้วต้องเปลี่ยนใจกลับไปกินข้าวขาวใหม่ เนื่องจากไม่เคยชินกับความแข็งกระด้างของข้าวกล้องได้ นั่นเป็นเพราะเราไม่รู้จักการหุงต้มที่ถูกวิธี การหุงข้าวกล้องต้องใส่น้ำมากกว่าหุงข้าวขาว และการเปลี่ยนจากการกินข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้องนั้น ครั้งแรกควรผสมข้าวกล้องลงในข้าวขาวเพียง 1 ใน 4 ของข้าวขาว หรือ 1 ใน 3 ของข้าวขาวก่อน หลังจากนั้นสักอาทิตย์ก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็นอย่างละครึ่ง ข้าวขาวครึ่งหนึ่งผสมกับข้าวกล้องอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อคุ้นกับรสชาติและผิวสัมผัสของมันแล้วจึงค่อย ๆ ลดข้าวขาวลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเหลือแต่ข้าวกล้องเพียงอย่างเดียว เด็ก ๆ ก็จะไม่ค่อยรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เพราค่อย ๆ คุ้นเคยกับรสชาติของข้าวกล้องจนติดใจไม่อยากกลับไปกินข้าวขาวอีก
ปัจจุบันตามศูนย์การค้าต่าง ๆ หรือแม้แต่ตามตลาดใหญ่ ๆ ก็มี การจำหน่ายข้าวกล้องบรรจุเป็นถุง ๆ ขายกันหลายยี่ห้อให้เลือกตามชอบนับว่าเป็นความสะดวกสบายในการซื้อ อีกทั้งราคาก็ยังถูกกว่าข้าวขาวคุณค่าทางอาหารก็มีมากกว่า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าควรกินข้าวกล้องทุกวัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น