นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ เผยผลการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่บริเวณพื้นผิวประกอบด้วยน้ำร้อน
นักวิจัยจากศูนย์ดาราฟิสิกส์แห่งฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าวว่า ค้นพบดาวเคราะห์ชนิดใหม่ที่ไม่ได้มีหินแข็ง ก๊าซ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่พบทั่วไปเป็นส่วนประกอบ แต่ประกอบด้วยน้ำและมีบรรยากาศปกคลุมด้วยไอน้ำหนาทึบ ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากการสำรวจอย่างละเอียดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซา
นักดาราศาสตร์กล่าวว่า ดาวเคราะห์ จีเจ1214บี ไม่เหมือนกับดาวเคราะห์ที่เคยรู้จัก เนื่องจากมวลส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำ ดาวดวงนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2552 โดยโครงการเอ็มเอิร์ธและได้รับการขนานนามว่า "ซูเปอร์-เอิร์ธ" เนื่องจากมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกประมาณ 2.7 เท่า และมีน้ำหนักมากกว่าโลกเกือบ 7 เท่า
ผลการศึกษาเพิ่มเติมในปี 2553 พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวดวงนี้ปกคลุมด้วยน้ำ มีหินแข็งน้อยมาก และมีแรงดันและอุณหภูมิสูงถึง 232 องศาเซลเซียส ด้วยสภาพที่แปลกประหลาดเช่นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสิ่งแปลกประหลาด เช่น "น้ำแข็งร้อน"
ดาวเคราะห์ดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างไปจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลซึ่งมีดาวเคราะห์ 3 ประเภทคือดาวเคราะห์ที่ประกอบด้วยหินแข็ง เช่น โลก ดาวเคราะห์ที่เป็นกลุ่มก๊าซขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัส หรือดาวเสาร์ และดาวเคราะห์เป็นก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่เช่นดาวยูเรนัส. -สำนักข่าวไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น