วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผงะ! ชะตากรรมเด็กไทย เผชิญสารพัดความเสี่ยง


ผงะ!ชะตากรรม‘เด็กไทย’ เผชิญสารพัดความเสี่ยง (ไทยโพสต์)
เด็กไทยต้องเผชิญสารพัดความเสี่ยง "ล่อลวง - ข่มขู่ - รีดไถ - อุบัติเหตุ" อึ้ง! พบเด็กหาย 15 คน/วัน เปิด 32 กิจกรรมสร้างสรรค์ "สื่อเด็กแนว-ค่ายอาสา- กีฬา-พัฒนาอาชีพ" หนุนพ่อแม่ - ชุมชน ขยายกิจกรรมวันเด็ก ไม่ทำวันเดียว แต่ทำทั้งปิดเทอม
เมื่อวันพุธ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดกิจกรรมรณรงค์ "ปิดเทอม สร้างสรรค์" เพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชนใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลการสำรวจเอแบคโพลล์ ในปี 2548 และ 2551 พบช่วงปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9% ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า อีก 67.3% ดูโทรทัศน์/วิดีโอ ขณะที่ 62.1% เล่นอินเทอร์เน็ต และ 52.2% เล่นเกมคอมพิวเตอร์
นอกจากนั้น เมื่อสำรวจกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ที่เยาวชนทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก 53।8% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊เปลือย อีก ४१ .5% ดูวิดีโอ ดีวีดีที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 29.1% มีเพศสัมพันธ์กับแฟน / คู่รัก และ 18.3% ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ทั้งนี้ ในช่วงปิดเทอม เด็กและวัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมักพบปัญหาถูกข่มขู่ รีดไถมากที่สุด รองลงมา ถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย, เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต, ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน, บังคับให้สูบบุหรี่ ตามลำดับ
ทพ।กฤษดากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนเด็กหายออกจากบ้านมากขึ้น จากสถิติศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา พบช่วงต้นปี 2553 เด็กหายถึง 70 คน โดย 90% เป็นเด็กผู้หญิง และจากสถิติที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ รับแจ้งคนหายผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในปี 2552 เฉลี่ยวันละ 10-15 ราย โดย 80% ติดตามกลับมาได้ และอีก 1% เสียชีวิต โดยเด็กที่หายไปส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุ 11-15 ปี
สอดคล้องกับข้อมูลการเสียชีวิตของเด็กในกลุ่ม 1-14 ปี เฉลี่ยเดือนละ 280 คน แต่กลับพบว่า ในช่วงปิดเทอม คือเดือนเมษายน เสียชีวิตมากที่สุด 400 คน รองลงมาคือ มีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม โดยอันดับ 1 คือ การจมน้ำเสียชีวิต 47% คิดเป็น 5-6 คน /วัน ในช่วงปิดเทอม รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่น ๆ และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุทางจราจร
เขากล่าวว่า ผลสำรวจวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน พบส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างพื้นที่กิจกรรมมากขึ้น อันดับ 1 คือ ลานกีฬา 38% อันดับ 2 ลานสาธารณะ/ลานพักผ่อน 26% และอันดับ 3 ลานดนตรี ศิลปวัฒนธรรม 26%
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า ปิดเทอม 1 ครั้ง เด็กน้ำหนักตัวขึ้น 3-4 กิโลกรัม เพราะเด็ก 70-80% ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกม กินอาหารไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กในเขตเมือง เนื่องจากเด็กไม่ทำกิจกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งอ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ ติดเกมนำไปสู่ความก้าวร้าว กิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
นพ.สุริยเดว กล่าวว่า ดังนั้นพ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมี 6 ฐานกิจกรรมสำคัญ คือ
1। ดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง
2। ศิลปะ วาดภาพ สร้างงานศิลปะ
3। สร้างปัญญา เช่น เที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกมที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์
4। จิตวิญญาณ เช่น การเที่ยววัด ให้เด็กได้เป็นมัคคุเทศก์น้อยในชุมชน
5। พลังกาย เพิ่มการออกกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยว
6। ฟรีเพลย์ คือ ทำสิ่งที่ชอบ โดยกิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะได้ทุกวัย
"การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอม นอกจากครอบครัวแล้ว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ รวมถึงคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ต้องช่วยกันสร้างเสริม พัฒนา ป้องกันเด็กไปพร้อม ๆ กัน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยง ทั้งอุบัติเหตุ ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การติดเกมได้ ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดกิจกรรมวันเด็ก อาจพิจารณาขยายกิจกรรม ไม่ทำเพื่อเด็กวันเดียว คือ ขยายกิจกรรมเพื่อเด็กจาก 1 วัน สลับสับเปลี่ยนกันทำทั้งช่วงปิดเทอมแทน จะได้ประโยชน์อย่างมาก" นพ.สุริยเดว กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: