วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องน่ารู้ของไทย ใครเป็นคนแรก?

เรื่องน่ารู้ของไทย ใครเป็นคนแรก? (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

ในสมัยเด็กๆ หลายคนอาจจะต้องท่องจำว่า ใครคือนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย แบบเรียนเล่มแรกของไทยชื่ออะไร ใครเป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วหลายคนก็ยังจำได้อยู่ แต่หลายคนก็อาจจะลืมเลือน

ดังนั้น เพื่อเป็นการทบทวนความจำทั้งความรู้เก่า และเกร็ดความรู้ใหม่ที่บางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับประเทศไทย จึงขอนำสาระบางส่วนจากหนังสือ "ความรู้รอบตัว รอบรู้เรื่องเมืองไทย" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสุวีริยาสาส์น เพื่อเสนอดังต่อไปนี้

แบบเรียนเล่มแรกของไทย

ชื่อ "จินดามณี" แต่งโดยพระมหาราชครู กวีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี พ.ศ. 2199-2231)

ถนนสายแรกในเมืองไทย

คือ ถนนเจริญกรุง (New Road) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2404 โดยต่อมาได้มีการตัดถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร รวมทั้งถนนพระราม 4 และถนนสีลมในเขตชานพระนคร

น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณ พ.ศ. 2410 สันนิษฐานว่า ผลิตที่สิงคโปร์แล้วส่งมาถวาย โดยใส่หีบกลบขี้เลื่อย คนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้นไม่เชื่อว่าจะทำน้ำแข็งได้จริง ถึงกับออกปากว่า "จะปั้นน้ำเป็นตัวได้อย่างไร"

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จประพาสต่างประเทศ

คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเสด็จประพาสสิงคโปร์เป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2413 และเสด็จดินแดนชวาด้วย

ผู้ที่ประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี

คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ โดยมีนายปโยตร์ ซูโรฟสกี (Pyotr Shchurovsky) ชาวรัสเซีย แต่งทำนองเพลงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2431

ธนบัตรหรือเงินกระดาษของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตขึ้นครั้งแรก

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พิมพ์ออกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 โดยก่อนหน้านั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการผลิตธนบัตร หรือเงินกระดาษออกใช้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2396 แต่เรียกว่า "หมาย" ทำด้วยกระดาษปอนด์สีขาวรูปสี่เหลี่ยม พิมพ์ลวดลายด้วยหมึกทั้งสองด้าน และประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ตราจักร และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลสีแดงชาด (ลัญจกร อ่านว่า ลัน-จะ-กอน แปลว่า ตราสำหรับใช้ตีหรือประทับ ราชาศัพท์ใช้คำว่า พระราชลัญจกร)

ผู้ที่คิดออกลอตเตอรี่เป็นคนแรกในเมืองไทย

คือ มิสเตอร์เฮนรี อาลบาสเตอร์ (ต้นตระกูล "เศวตศิลา") ชนชาติอังกฤษ เป็นผู้นำลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรปมาเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเรียกว่า "ลอตเตอรี่" โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2417 เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

คนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเครื่องบิน

คือ พระบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดยประทับเครื่องบินออร์วิลไรท์ คู่กับกัปตัน มร.เวนเดนเปอร์น ซึ่งขับวนเวียนเหนือสนามราชกรีฑาสโมสร เป็นเวลา 3 นาที 45 วินาที เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2453 เป็นเครื่องบินที่บริษัทฝรั่งเศสนำมาแสดง ณ ราชกรีฑาสโมสร (สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งถือว่าเป็นสนามบินแห่งแรก ที่ใช้ในการบินของเมืองไทยด้วย

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ

คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เมื่อปี พ.ศ. 2436-2445 รวมระยะเวลา 9 ปี

นามสกุลหมายเลข 1 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงคิดพระราชทาน

คือ นามสกุล "สุขุม" พระราชทานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 ต้นสกุลคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ผู้ที่ให้กำเนิดรถแท็กซี่ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก

คือ พลโทพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นรถยนต์นั่ง (รถเก๋ง) ยี่ห้อออสติน จำนวน 4 คัน เปิดบริการรับจ้างครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในสมัยนั้นเรียกว่า "รถไมล์"

ประเทศไทยเริ่มนับเวลาตามแบบสากลครั้งแรก

ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยแต่เดิมเรานับเวลาตอนกลางวันเป็น "โมง" และตอนกลางคืนเป็น "ทุ่ม"พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้เปลี่ยนมาเรียกว่า "นาฬิกา" (เขียนย่อว่า "น.") และให้นับเวลาทางราชการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม โดยให้ถือว่าเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ และให้ถือเวลาที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษ เป็นมาตรฐาน ซึ่งเวลาในประเทศไทยเป็นเวลาก่อนหรือเร็วกว่าเวลาที่กรีนิช 7 ชั่วโมง เช่น ไทยเป็นเวลา 19.00 น. ทางกรีนิชเท่ากับ 12.00 น. เป็นต้น

ผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรก

คือ มิสเตอร์เอ็ดวิน แมกพาแลนด์ ยี่ห้อเรมิงตัน

นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยคือ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475-20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่ง

คือ นายควง อภัยวงศ์ หลังจากที่เข้าดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 1 เดือนเศษ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ได้ถูกคณะนายทหารเข้าพบ เพื่อขอร้องแกมบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

ยศสูงสุดของทหารไทย

คือ "จอมพล" แต่ปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้งแล้ว ยศสูงสุดทางทหารในปัจจุบันคือ "พลเอก" ผู้ที่เป็นจอมพลคนแรกของไทยคือ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเป็นต้นสกุล "ภาณุพันธุ์"

จอมพลคนแรกในระบอบประชาธิปไตย

คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคนสุดท้ายที่ดำรงตำแหน่งจอมพลในระบอบประชาธิปไตยคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2516 (สำหรับพระมหากษัตริย์ จะทรงดำรงตำแหน่ง "จอมทัพไทย")

ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทยในปัจจุบัน

คือ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) เป็นผู้แต่งทำนอง และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง เมื่อ พ.ศ. 2483

ผู้ที่คิดฝนเทียมหรือฝนหลวง ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 โดยได้ทรงค้นคิดและวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 และทรงถ่ายทอดแนวพระราชดำริ และผลการวิจัยแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร จนมีการทำฝนหลวงพระราชทานครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2512

มกุฎราชกุมารพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย

คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงจบอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2519

คนไทยคนแรก ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสมัชชาใหญ่ แห่งสหประชาชาติ

คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2499

ผู้นำไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ

คือ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทย ได้รับในสาขางานบริการภาครัฐบาล ประจำปี พ.ศ. 2540

ไม่มีความคิดเห็น: