วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พบต้นตระกูลไทยรู้จักเพาะปลูก เป็นชาติแรก!


พบต้นตระกูลไทยรู้จักเพาะปลูก เป็นชาติแรก! (ไทยโพสต์)

นักวิชาการ ม.เกษตร เสนอองค์ความรู้ใหม่ คนไทยเพาะปลูกพืชผักชาติแรกในโลก ยกหลักฐานแหล่งโบราณคดีถ้ำผี จ.แม่ฮ่องสอน พบเมล็ดพันธุ์พืช 15 ชนิด อายุ 8,800-13,000 ปี ถือเป็นต้นกำเนิดแหล่งเกษตรกรรม สันนิษฐานเก่าแก่กว่าดินแดนตะวันออกกลาง

อาจารย์ อรไท ผลดี ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะมีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดจากพืชป่า สู่การปลูกพืชสวน ภายในงานประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 10 จัดโดยภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยจะนำเสนอองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งค้นพบซากฟอสซิลของเมล็ดพืช 15 ชนิด ประกอบด้วย กระจับ แตงหนาม ถั่ว น้ำเต้า บวบ หมาก พลู พริกไทยป่า มะกอกเกลื้อน นางพญาเสือโคร่ง มะซาง สมอไทยและสมอพิเภก ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหาร เครื่องเทศและยารักษาโรค นอกจากนี้ยังมีมะเยาใช้เป็นเชื้อเพลิง และสลัดไดป่าใช้อาบลูกดอกธนูล่าสัตว์

อาจารย์อรไทกล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสนอองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของ พืชป่าสู่การปลูกพืชสวน วิธีวิจัยใช้การศึกษาเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูล และสรุปเรียบเรียง เพื่อนำเสนอภายในงานประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติดังกล่าว โดยสรุปว่า อารยธรรมการเพาะปลูกพืชของคนไทยเก่าแก่ที่สุดในโลก มีหลักฐานจากบริเวณแหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากค้นพบฟอสซิลเมล็ดพืชแล้ว ในบริเวณเดียวกันนี้ยังพบเครื่องมือการเกษตรอยู่ในชั้นดิน เช่น ขวานหินขัด และมีดหินชนวน เป็นต้น

จากข้อมูลการศึกษาของ ดร.เชสเตอร์ กอร์แมน นักโบราณคดีมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบหาค่าอายุเมล็ดพืชด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน พบว่ามีอายุช่วงระหว่าง 8,800-13,000 ปี ดร.เชสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มนุษย์ในบริเวณนี้รู้จักการเพาะปลูกพืชสวนแล้ว

"ดิฉันศึกษาวิเคราะห์ เพิ่มเติมอีกว่า มนุษย์ในแหล่งโบราณคดีถ้ำผี ก็คือบรรพชนคนไทยที่ได้เริ่มนำพืชป่ามาเพาะปลูกเป็นพืชผักสวนครัวเป็นชนชาติ แรกในโลกเช่นเดียวกับการปลูกข้าว ดินแดนเอเชียเป็นแหล่งกำเนิดเกษตรกรรมของโลก อาจเกิดขึ้นก่อนอารยธรรมในตะวันออกกลาง ที่เรียกว่าดินแดนอุดมสมบูรณ์รูปพระจันทร์เสี้ยว ปัจจุบันอยู่บริเวณประเทศซีเรียและตอนใต้ของอิรัก ที่พบฟอสซิลเมล็ดพืชอายุ 11,500 ปี"

นักวิชาการด้านวัฒนธรรมการเกษตร ระบุว่า ที่วัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน พบหลักฐานฟอสซิลพืชที่ใช้เป็นอาหารอายุ 7,000 ปี จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ กระจับ งา แตงไทย ถั่ว ลูกท้อ น้ำเต้า ลูกบ๊วย บัวหลวง พุทรา ลูกยางและเปลือกเกาลัด และยังพบเมล็ดพันธุ์ผักสกุลผักกาดขาวและผักคะน้าอายุประมาณ 7,000 ปี แสดงว่าบรรพชนไทยที่อพยพไปอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซี มณฑลเจ้อเจียง รู้จักการเพาะปลูกพืชสวนไม่ต่ำกว่า 7,000 ปีแล้ว บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห พบหลักฐานฟอสซิล เมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้งอายุ 7,000 ปี นอกจากนี้ที่โบราณสถานเมืองซีอาน พบภาชนะดินเผาปากเล็กเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกอีกด้วย

"หลักฐาน ฟอสซิลเมล็ดพันธุ์พืชที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีที่ประเทศจีนนั้น ดิฉันได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลเอกสารต่างๆ ของนักวิชาการจีน เช่น ศ.จางกงจิ่ง สถาบันชนชาติแห่งประเทศจีน มณฑลเจ้อเจียง และ ศ.เจียงอึ้งเหลียง มหาวิทยาลัยยูนนาน เป็นต้น ได้เสนอว่า ชาวพื้นถิ่นในแหล่งโบราณคดีต่างๆ เป็นบรรพชนเผ่าไทย ก่อนที่จะอพยพลงมาตามแม่น้ำและอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศไทยทุกวันนี้" อ.อรไท กล่าวสรุป

ไม่มีความคิดเห็น: